เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดโรคหัวใจ

โรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ป่วยเป็นอย่างไร

ในปัจจุบัน อุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดในคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญสาเหตุหนึ่ง เป็นภาวะที่หัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงหรือเลือดไหลเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากผนังหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวและมีการตีบตัน ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอุบัติการณ์ที่แน่นอน แต่จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีชาวอเมริกันหัวใจวายจากโรคนี้ปีละ 1.5 ล้านคน โดยที่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เคยมีอาการนำมาก่อนและ 1 ใน 3 ของพวกที่มีอาการครั้งแรกนี้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีการคาดคะเนว่าเมื่อคนไทยรับวัฒนธรรมการกินอยู่ของประเทศทางตะวันตกกันมากขึ้น อุบัติการณ์ของโรคนี้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

ข่าวดีก็คือเราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้สำหรับตัวเราเองหรือลูกหลานของเรา โดยการเสริมสร้างอุปนิสัยและพฤติกรรมการกินอยู่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าสามารถปลูกฝังได้ ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะก่อให้เกิดผลดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมีมากมายหลายอย่าง บางอย่างก็หลีกเลี่ยงป้องกันได้ บางอย่างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังต่อไปนี้

1. อายุและเพศ ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เร็วกว่าผู้หญิง และยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสจะเกิดโรคนี้ก็มากขึ้น

2. มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 55 ปีในผู้ชาย หรือ 65 ปีในผู้หญิง อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จะสูงขึ้น

3. เป็นโรคเบาหวาน โรคเบาหวานบางชนิดจะเริ่มมีอาการตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น การวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่เริ่มแรกและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี จึงมีความสำคัญในการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

4. การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคภัยหลายชนิด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองขาดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง พบว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีอัตราตายจากหัวใจวาย สูงกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2-4 เท่า ดังนั้นการอบรมลูกหลานของท่านให้เห็นพิษภัยของบุหรี่ และตัวท่านเองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ จึงมีความสำคัญมาก

5. ลักษณะการทำงานและการออกกำลัง พบว่า การทำงานนั่งโต๊ะจะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด 2 เท่า คนที่เฉื่อยชาไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายมีโอกาสจะเป็นโรคอ้วน ซึ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นการฝึกฝนให้ลูกหลานของท่าน มีความว่องไว กระฉับกระเฉง และส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

6. ความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เราอาจจะพบความดันโลหิตสูงในเด็กได้ ดังนั้น จึงควรให้ลูกหลานของท่าน ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง

7. ความอ้วนและระดับไขมันในเลือด พบว่า อาหารที่มีไขมัน โคเลสเตอรอลสูง และมีกากน้อย จะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท หมูสามชั้น มันหมู กะทิ เนย เด็กที่มีน้ำหนักเกินพิกัดจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก รวมทั้งมีผลให้ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเป็นเบาหวานได้ง่าย จึงยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด การป้องกันไม่ให้อ้วนตั้งแต่เด็ก จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เราสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดในลูกหลานของเราได้ดังนี้ 

1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง
2. ดูแลไม่ให้สูบบุหรี่ 

3. ไม่ปล่อยให้อ้วนจนเกินไป และมีระดับโคเลสเตอรอลสูง
4. ส่งเสริมให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ทำไมการออกกำลังกายจึงมีความสำคัญสำหรับเด็ก

การที่ร่างกายของเด็กๆ มีการเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกายจะช่วยทำให้การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดี ทำให้ความดันโลหิตปกติ ช่วยลดความเครียดและเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่กระฉับกระเฉง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนแต่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดทั้งสิ้น และพ่อแม่ควรมีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูลูกๆ อย่างไรให้กระฉับกระเฉง อาทิ

1. จำกัดเวลาดูโทรทัศน์และเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง พยายามส่งเสริมการออกกำลังกายในแต่ละวัน

2. วางแผนพาลูกๆ ไปเล่นกีฬาในวันหยุด เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเดินเล่นในสวนสาธารณะ

4. สังเกตว่าลูกๆ ของท่านชอบเล่นกีฬาประเภทใดและพยายามส่งเสริมอย่างที่ชอบ และควรพิจารณาว่ามีกีฬาบางอย่างที่เด็กๆ สามารถเล่นไปได้เรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่ เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ ในขณะที่กีฬาที่เล่นเป็นทีม โอกาสที่จะเล่นเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะน้อยลง เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล

5. ให้ของขวัญที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา เช่น ไม้ปิงปอง ลูกฟุตบอล ไม้เทนนิส กางเกงว่ายน้ำ เป็นต้น

6. ใช้วิธีเดินหรือขี่จักรยานแทนการนั่งรถ ถ้าคิดว่าปลอดภัยเพียงพอ

7. หลีกเลี่ยงการใช้บันไดเลื่อนหรือลิฟท์ ให้เดินขึ้นบันไดแทน

8. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ ในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์