สถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจเด็กของประเทศไทย ในปัจจุบัน


บทวิเคราะห์สถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจเด็กในประเทศไทยในปัจจุบัน

ในปีนี้เป็นปีที่ 21 ของมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก นับตั้งแต่ที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2541 โดยท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ได้กรุณารับเป็นประธานมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก เป็นท่านแรก และพลตำรวจเอกเสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ได้กรุณารับเป็นรองประธานมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก สถานการณ์ของผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในวันนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเด็กจำนวนมาก ต้องรอคิวผ่าตัดอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 2-3 ปี โดยมีคิวอยู่ทั่วประเทศที่อยู่ใน list ประมาณ 3,000 คน และอยู่นอก list อีกจำนวนมากนับหมื่นคนและเด็กๆ เหล่านั้นต้องเสียชีวิตและมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความพิการระหว่างรอคิวผ่าตัดจำนวนมาก

จากวันนั้นถึงวันนี้ สถานการณ์ของเด็กโรคหัวใจมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ

1. ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแบบไม่ซับซ้อน (non-complex) ประมาณร้อยละ 80 ของทั้งหมดได้แก่ โรค ASD, VSD, TOF, PDA
1.1. คิวในโรงพยาบาลรัฐส่วนกลาง (ได้รับการส่งต่อจากต่างจังหวัด) ลดลงเหลือไม่เกิน 3 เดือน
1.2. คิวในโรงพยาบาลรัฐในภูมิภาค (ไม่ได้ส่งต่อเข้าส่วนกลาง) ยังมีอยู่พอประมาณ ในบางแห่งคิวยาวกว่า 1 ปี
1.3. ยังมีความขาดแคลนของผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ที่เป็นเด็กทารก (อายุน้อยกว่า 6 เดือน) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตามแผนกไอซียูเด็กต่างๆ ทั่วประเทศเพราะว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติในทันทีจึงจะสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจและสามารถหายใจด้วยตนเองได้ ปัญหานี้เป็นเพราะไอซียูหัวใจเด็กมีไม่พอเพียง (ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างแต่เป็นเพราะว่าพยาบาลไอซียูขาดแคลนทั้งประเทศ)

2. ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแบบซับซ้อน (complex) ประมาณ 20% ของทั้งหมด ซึ่งการรักษาและผ่าตัดต้องอาศัยทีมแพทย์ พยาบาล ที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีบุคลากรที่จำกัด ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลที่ผ่าตัดได้เต็มรูปแบบไม่เกิน 6 แห่ง คิวผ่าตัดของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งรับการส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 6 เดือน

2.1. ปัญหาอยู่ที่ความจำกัดของศัลยแพทย์และบุคลากรสาขาอื่นๆ เนื่องจากงานหนักมากและค่าตอบแทนน้อย จึงหาคนเข้ามาสนใจเรียนยาก อีกทั้งต้องใช้คนที่มีทักษะการผ่าตัดและดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับสูงจึงจะสามารถทำงานนี้ได้ การทำผ่าตัดใช้เวลานานเฉลี่ยประมาณ 6-10 ชั่วโมง
2.2. ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางครั้งต้องได้รับการผ่าตัดหลายครั้งจนเสร็จสมบูรณ์และเมื่อเติบโตขึ้นผ่านมา 10-20 ปี อาจต้องการการผ่าตัดเพิ่มเติมอีก จึงมีผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเมื่อเรารักษาเด็กเหล่านี้ให้รอดชีวิตไปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่โตเป็นผู้ใหญ่ (Grown-up Conenital Heart Disease) ซึ่งเรายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

   โครงการที่สำคัญล่าสุด

1. โครงการผ่าตัดหัวใจเด็ก 840 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 - สิงหาคม 2560 สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กเป็นจำนวนทั้งสิ้น 852 ราย

2. โครงการผ่าตัดหัวใจเด็กภูฏาน 99 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยทางมูลนิธิฯ ได้หาทุนเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและทางประเทศภูฏานดูแลเรื่องการเดินทางและที่พักนอกโรงพยาบาลของผู้ป่วยและผู้ปกครอง โดยทางคณะแพทย์ของทั้งสองประเทศร่วมกันคัดเลือกและจัดลำดับการผ่าตัดของผู้ป่วยเด็ก

    คำนวณจากจำนวนประชากรของประเทศภูฏาน 760,000 คน ในปี 2556 และอัตราการเกิด 2 % ประเทศภูฏานจะมีเด็กเกิดใหม่ 15,200 คนต่อปี 0.8 % ของเด็กเกิดใหม่หรือ 122 คนต่อปีจะเป็นเด็กที่มีความผิดปกติของหัวใจ และประมาณครึ่งหนึ่งคือ 60 คนจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โครงการนี้เริ่มผ่าตัดเด็กภูฏานคนแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ถึงวันนี้ได้ผ่าตัดไปแล้ว 42 ราย และจะดำเนินการรับบริจาคไปจนกว่าจะผ่าตัดจนครบ 99 ราย