เด็กโรคหัวใจ ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษบ้าง?

เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็นชนิดเป็นแต่กำเนิด หรือชนิดที่เป็นเมื่อโตแล้วก็ตาม อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ไม่มีอาการ
ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่บิดามารดาหรือกุมารแพทย์ทั่วไปฟังได้เสียงผิดปกติในหัวใจ กลุ่มนี้ถ้าจะเป็นโรคหัวใจชนิดใดก็ตามส่วนใหญ่การผิดปกติของหัวใจมักไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาทางยาหรือผ่าตัด การดำเนินชีวิตกิจกรรมต่างๆ มักเป็นไปตามปกติเช่นเด็กทั่วไป ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องการกินอยู่ การออกกำลังกาย แต่จำเป็นต้องให้การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างดียิ่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อตรงบริเวณที่ผิดปกติของหัวใจจากเชื้อในช่องปากหรือหากมีการผ่าตัดหรือหัตถการกับเด็กต้องให้ยาปฏิชีวนะป้องกันไว้ด้วย

ควรพาเด็กไปพบแพทย์โรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ประเมินสถานภาพความรุนแรงของโรคหัวใจนั้นๆ ว่ายังคงสภาพเดิม หรือมีความรุนแรงมากขึ้น หรือมีอย่างอื่นแทรกซ้อน เพราะโรคหัวใจเด็กบางชนิดการรุนแรงของโรคอาจเพิ่มมากขึ้นได้ตามอายุ เด็กกลุ่มนี้หากบิดามารดา หรือแม้แต่ตัวเด็กเองมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคที่เป็นแล้ว ครอบครัวและเด็กเองจะคลายความวิตกกังวลอันนำมาซึ่งสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีอนาคตอันสดใสเฉกเช่นเด็กปกติทั่วไป

ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กปกติไม่มีโรคหัวใจ แต่เมื่อโตขึ้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้า-สเตร็ปโตคอคคัส กลุ่มเอ ที่ลำคอและไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาแต่ไม่พอเพียง เด็กบางคนจะเกิดโรคไข้รูห์มาติคมีอาการปวดข้อหลายๆ แห่ง มีการเคลื่อนไหวผิดปกติของแขนขาหรือมีการอักเสบของหัวใจ โดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วยังคงเหลือร่องรอยอยู่ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบได้ เด็กเหล่านี้หากลิ้นหัวใจอักเสบไม่มากนัก และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้องเมื่อหายจากโรคแล้วเด็กก็จะไม่มีอาการอะไรทางหัวใจ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฉีดยาเบนซาทีนเพนนิซิลิน ทุก 3-4 สัปดาห์เข้ากล้ามไปนานๆ เป็นระยะเวลาหลายสิบปี (ดูหัวข้อโรคหัวใจรูห์มาติค) เพราะหากไม่ได้รับการฉีดยานี้แล้วเด็กเหล่านี้เมื่อติดเชื้อสเตร็ปกลุ่มเดิมที่ลำคออีก โอกาสจะเป็นโรครูห์มาติคซ้ำมีสูงมาก และอาจทำให้ลิ้นหัวใจหรือแม้แต่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากยิ่งขึ้นจนเกิดภาวะหัวใจวายต้องรับประทานยาตลอดไป หรือหากเป็นมากๆ อาจต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจไปเลย

เมื่อถึงระยะนี้แล้วเด็กจะมีความพิการทางหัวใจจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอนาคตจะเสียไป ความเข้าใจอันถูกต้องในเรื่องการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคนี้โดยการได้รับยาฉีดทุก 3-4 สัปดาห์จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

2. กลุ่มเด็กโรคหัวใจที่มีอาการ
โดยทั่วไปอาการส่วนใหญ่ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจมี 2 กลุ่ม คือ

2.1 กลุ่มที่มีอาการหัวใจวาย 
ซึ่งมักจะพบในกลุ่มที่มีเลือดรั่วจากซีกซ้ายของหัวใจไปยังด้านขวาและไปปอดมากขึ้น เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการเจ็บเรื้อรัง ผอม น้ำหนักน้อย มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูไม่เจริญเติบโต เหนื่อยหอบ เหงื่อออกมากแม้อากาศเย็น ดูดนมลำบาก รับประทานอาหารได้น้อย ต้องพักเหนื่อยระหว่างรับประทาน บางครั้งมีพัฒนาการช้า เนื่องจากป่วยหนัก สีผิวซีดเซียว และบางรายก็มีอาการบวมร่วมด้วย หรือป่วยเป็นปอดบวมบ่อยๆ เด็กกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ตั้งแต่แรกๆ

ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการผ่าตัดเมื่อถึงเวลาอันสมควร ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งต้องกระทำก่อนเกิดพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงเล็กๆ ในปอด ช่วงระยะเวลาก่อนผ่าตัดการให้การดูแลสุขภาพทั่วไป และให้ภูมิคุ้มกันเช่นเด็กปกติ ลดอาหารเค็มจัด หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปที่แออัดเพื่อไม่ให้เด็กเป็นหวัดง่ายอันจะนำมาซึ่งโรคแทรกปอดอักเสบหรือปอดบวมเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เด็กกลุ่มนี้มักจะได้รับยาหลายชนิดหลายขนานเพื่อรักษาภาวะหัวใจวาย ได้แก่ ยา กลุ่มเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (ดีจิตาลิส) ยาขับปัสสาวะลดการบวมคั่งของน้ำในร่างกาย ยาขยายหลอดเลือดร่างกาย ยาเหล่านี้จำเป็นต้องให้พอดีกับขนาด น้ำหนักเด็ก หากให้เกินขนาดจะเกิดอันตรายแก่เด็กได้ หรือหากได้รับยาขนาดน้อยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์

บิดามารดาควรทำความเข้าใจในการให้ยาเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการให้ยา นอกจากนี้ก็ยังคงต้องดูแลสุขภาพฟันดังได้กล่าวมาแล้วด้วย ในรายที่เด็กเป็นไข้หวัดเด็กกลุ่มนี้มักจะไอมีเสมหะมาก ซึ่งหากเป็นหลายๆ วันอาจมีการติดเชื้อในปอดเป็นโรคปอดบวมแทรกได้ จึงควรที่จะไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆเมื่อเด็กเริ่มป่วย การออกกำลังกาย ต้องไม่หักโหม ไม่ควรเล่นกีฬาแข่งขันเพราะเด็กจะหยุดไม่ได้เมื่อเหนื่อย แต่โดยทั่วไปเด็กกลุ่มนี้เด็กมักจะจำกัดตัวเองเท่าที่กระทำได้ เมื่อเด็กได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วส่วนใหญ่ก็จะหายขาดจากโรค แต่ในช่วงระยะเวลาแรกๆ หลังผ่าตัดก็จำเป็นที่จะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเช่นเดิม เพื่อมิให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน

2.2 กลุ่มโรคหัวใจที่มีอาการชนิดเขียว 
ในเด็กกลุ่มโรคหัวใจที่มีอาการชนิดเขียว ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

• กลุ่มเด็กที่เขียวและมีอาการหัวใจวายร่วมด้วย

เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการหลังคลอดเร็วมาก หากไม่ได้รับการรักษาผ่าตัดทันท่วงทีส่วนใหญ่จะถึงแก่กรรมภายในเวลา 1-2 ขวบปีแรก เด็กเหล่านี้ช่วงก่อนการผ่าตัดก็จะต้องดูแลให้ยาเช่นเด็กที่มีอาการหัวใจวายดังได้กล่าวแล้ว แพทย์โรคหัวใจเด็กมักจะนัดเด็กกลุ่มนี้มาตรวจบ่อยๆ ก่อนการผ่าตัดเพื่อประเมินสภาวะหัวใจและปอด การผ่าตัดหัวใจของเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วต้องกระทำเร็วก่อนที่เส้นเลือดแดงในปอดจะเสีย

การผ่าตัดจะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ตามศูนย์โรคหัวใจต่างๆ ทั่วประเทศสามารถผ่าตัดให้หายได้ กรณีที่เด็กมีอาการหัวใจวายมากหรือสุขภาพทั่วไปไม่เอื้ออำนวยอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพียงแค่ไปรัดเส้นเลือดที่ไปยังปอดให้แคบลงลดปริมาณเลือดที่ไปยังปอด รอให้เด็กโตขึ้นแข็งแรงขึ้นจึงผ่าตัดอีกครั้ง ช่วงหลังผ่าตัดครั้งแรกนี้อาการหัวใจวายของเด็กจะดีขึ้นหรือหายไป เด็กจะเจริญเติบโตดีขึ้นแต่อาจจะมีอาการเขียวมากขึ้น การดูแลรักษาเด็กในช่วงนี้ก่อนการผ่าตัดใหญ่จะเป็นเช่นเดียวกับกลุ่มที่จะได้กล่าวต่อไป อันได้แก่กลุ่มเด็กที่มีอาการเขียวแต่ไม่มีอาการหัวใจวาย

• กลุ่มเด็กที่มีอาการเขียวแต่ไม่มีอาการหัวใจวาย

เด็กกลุ่มนี้อาการเขียวอาจเป็นตั้งแต่แรกเกิดหรือค่อยๆ เป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาร้องไห้บางรายอาจมีอาการเขียวคล้ำ กวนมาก หายใจหอบลึก และอาจมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็กเล็กๆ ก่อนอายุ 2 ปีมักเป็นตอนเช้าๆ หรือหลังร้องไห้นานๆ เมื่อโตขึ้นเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก หอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือเดินนานๆ เด็กมักจะชอบนั่งยองๆ จนอาการดีขึ้นแล้วถึงจะทำต่อ

เด็กกลุ่มนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แต่มักจะรอได้ไม่ต้องรีบทำตั้งแต่เล็กๆ หรือเกิดใหม่ เพราะเส้นเลือดแดงในปอดจะไม่เสีย ช่วงก่อนการผ่าตัดการดูแลรักษาเด็กกลุ่มนี้ นอกจากจะดูแลการฉีดวัคซีน การให้อาหารเช่นเด็กปกติทั่วไปแล้วยังต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี และให้ยาปฏิชีวนะก่อนทำฟัน เพื่อมิให้มีการติดเชื้อในหัวใจหรือเป็นฝีในสมอง การออกกำลังกายไม่ควรหักโหมพักผ่อนให้พอเพียง บางรายที่อาจต้องรับประทานยาก็ควร

รับประทานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นมากในเลือด เลือดเข้มข้น หากมีอาการท้องเดินควรรีบพาไปพบแพทย์เพราะต้องดูแลอย่าให้เด็กขาดน้ำจนเกินไปอาจเกิดอาการทางสมองได้ เมื่อเด็กมีอาการเขียวคล้ำหายใจหอบลึกบิดามารดาควรพยายามทำให้เด็กสงบหยุดร้องไห้ ชันเข่าเด็กงอชิดหน้าอกหรืออุ้มพาดบ่า และรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล เพราะการเกิดอาการนี้นานๆ อาจมีผลทางสมองเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อาการอื่นที่อาจพบได้ในเด็ก เช่น อาการใจสั่นมีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ อาจพบได้ในเด็กที่มีหรือไม่มีความผิดปกติของหัวใจได้ เด็กเหล่านี้ควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เล่นกีฬาของเด็กให้ชัดเจน เพราะบางรายอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เด็กที่เป็นโรคหัวใจไม่ว่าชนิดใดก็ตามหากมีอาการไข้ต่ำๆ เป็นสัปดาห์หรือเดือน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีอาการปวดข้อ ซึมลง หรือมีจุดเลือดตามตัว อาจมีการติดเชื้อที่บริเวณส่วนผิดปกติของหัวใจ ต้องรีบพาเด็กมาพบแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที เพื่อมิให้พยาธิสภาพหัวใจเลวลง เด็กที่มีการติดเชื้อภายในหัวใจหากมิได้รับการรักษาจะมีโรคแทรกซ้อนได้มาก และถึงแก่กรรมในที่สุด

บทสรุป
โดยสรุปการดูแลเด็กที่เป็นโรคหัวใจในส่วนของบิดามารดาผู้ปกครอง ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้

1. ด้านโภชนาการ ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจและไม่มีอาการ ให้การดูแลเช่นเด็กปกติ ให้อาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในเด็กที่มีอาการหัวใจวาย มีอาการหอบบวมควรให้อาหารลดเค็ม ให้น้ำพอสมควร เด็กที่เขียวควรให้อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้พอเพียงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดง เพื่อป้องกันการเกิดอาการทางสมอง

2. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าเด็กจะเป็นโรคหัวใจชนิดใดให้ได้เช่นเด็กปกติ แต่ควรเลือกช่วงเวลาที่เด็กสบายๆ ไม่มีการเจ็บป่วยหนักขณะนั้น

3. การออกกำลังกาย ในกลุ่มเด็กที่ไม่มีอาการทำได้เช่นปกติ (ยกเว้นบางกรณี เช่น มีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจบางชนิด หรือลิ้นหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ถึงแม้เด็กจะไม่มีอาการเมื่ออยู่เฉยๆ แต่อาจมีอาการมากมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เมื่อออกกำลังกาย ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ให้ชัดเจนว่าสามารถออกกำลังกายได้แค่ไหน เล่นกีฬาแข่งขันได้หรือไม่ ในกลุ่มเด็กที่มีอาการส่วนใหญ่เด็กมักจะจำกัดตัวเองอยู่แล้วก็ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องไม่ให้เด็กหักโหม

4. การป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อจากฟันหรือช่องปาก ต้องดูแลสุขภาพฟันให้ดี รับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน หรือการผ่าตัดบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ (ดูหัวข้อภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและการป้องกัน) ในเด็กที่เขียวควรระวังอย่าให้เด็กเสียน้ำมากเวลามีอาการท้องเสีย อาเจียน หากมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติควรทราบวิธีปฏิบัติดูแลเด็กก่อนพามาโรงพยาบาล

5. ควรมีความเข้าใจอย่างดียิ่งในการให้ยาทางโรคหัวใจในรายที่จำเป็น เช่น ก่อนและหลังการผ่าตัด หรือในเด็กบางรายที่จำเป็นต้องได้ยาตลอดชีวิต เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจหรือเป็นโรคหัวใจบางชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ หรือการฉีดยาทุก 3-4 สัปดาห์เป็นระยะเวลานานๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจรูห์มาติค เพื่อป้องกันการสับสน ให้ยาผิดขนาดหรือเลิกไปเองก่อนเวลาอันสมควร และควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของยาที่ใช้ด้วยโดยปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การดูแล

จะเห็นได้ว่าการดูแลเด็กที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูง หายจากโรค และมีการดำเนินชีวิตปกติมีอนาคตสดใส จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครอง บิดามารดาของเด็กที่ป่วยเข้าใจถึงพยาธิสภาพการดำเนินของโรคชนิดนั้นๆ อย่างแท้จริง ตลอดถึงความเข้าใจเรื่องการให้ยา และเฝ้าระวังโรคแทรกและให้การรักษาอย่างทันท่วงที การเข้าใจอย่างถ่องแท้จะนำมาซึ่งการผ่อนคลายความวิตกกังวลของครอบครัว และของเด็กเองเมื่อโตขึ้น เด็กจะมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพของสังคมของประเทศเช่นเด็กปกติได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.ชาลี พรพัฒน์กุล มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์