การป้องกันโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

การป้องกันโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นโรคพันธุกรรมแบบปัจจัยร่วมนั้นเป็นสาเหตุกลุ่มใหญ่ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และส่วนใหญ่แพทย์ก็ไม่สามารถบอกว่าปัจจัยร่วมประกอบด้วยอะไรบ้าง จึงเป็นกลุ่มที่ถือได้ว่าไม่สามารถป้องกันอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การป้องกันโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทำได้โดย

  1. หลีกเลี่ยงการแต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน 
  2. สตรีที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันมาก่อน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัดเยอรมันก่อนแต่งงาน 
  3. ควรฝากครรภ์ตั้งแต่แรกๆ ของการตั้งครรภ์ 
  4. ถ้าตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงกายอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นโรคซึ่งติดต่อได้ 
  5. ถ้าตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งยาเสพติด บุหรี่ สุรา

สาเหตุของโรคหัวใจที่เป็นทีหลัง

  1. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค
    1.1 เชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ ตัวแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และพิษที่สร้างจากตัวแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียอาจทำให้เยื่อบุหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พิษของตัวแบคทีเรีย เช่น จากเชื้อโรคคอตีบ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อไวรัสทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พยาธิบางชนิดก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อโรคบางตัวยังอาจเป็นตัวทำให้เกิดโรคเฉพาะบางโรค เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ทำให้เกิดโรคไข้รูมาติก ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคที่หัวใจได้ด้วย จนอาจทำให้ลิ้นหัวใจพิการ หรือที่เรียกว่า โรคหัวใจรูมาติก 

    1.2 ยาบางชนิดอาจเป็นต้นเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปจนอาจเกิดอันตราย
    1.3 การขาดวิตามิน เช่น ขาดวิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคหัวใจได้
    1.4 โรคบางอย่างที่ทำให้ไขมันสูงในเลือดจนเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้าม เนื้อหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    1.5 โรคที่ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซของระบบหายใจไม่เพียงพอ (รวมทั้งเด็กที่อ้วนมากๆ) จนทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น เด็กที่ต่อมทอนซิลโตมากๆจนทำให้หายใจไม่สะดวกก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้
    
1.6 โรคหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของโรคบางอย่าง เช่น โรคคาวาซากิ โรคลุปัส อีริธธีมาโตซัส โรคข้อรูมาตอยด์ ต่อมทัยรอยด์เป็นพิษ โรคไต โรคเลือด หรือโรคมะเร็งบางชนิดที่อาจลามมาที่หัวใจได้
     
  2. สิ่งแวดล้อม การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงมากๆจากระดับน้ำทะเลเป็นเวลานานๆอาจเป็น ต้นเหตุของโรคหัวใจได้ ที่อยู่อาศัยที่แออัดทำให้โรคบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจติดต่อไป ให้คนอื่นได้ง่ายขึ้น
     
  3. ตัวบุคคล เด็กบางคนอาจถูกกำหนดโดยพันธุกรรมให้เป็นโรคบางชนิด ง่ายกว่าเด็กอื่นๆ จะเห็นได้ว่า เด็กที่คอหรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อโรคสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ มีเพียงร้อยละ 0.3-3 เท่านั้น ที่เกิดโรคไข้รูมาติกซึ่งเป็นต้นเหตุองโรคหัวใจรูมาติก

การป้องกันโรคหัวใจที่เป็นทีหลัง
1.ฉีดวัคซีนทุกชนิดให้ครบตามกำหนด
2.รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่
3.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากหรือเค็มมาก
4.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึ่งอาจติดต่อได้
5.เมื่อเจ็บป่วยควรรีบรับการตรวจรักษาจากแพทย์
6.เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังทุกชนิดควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

โดยสรุป การที่สามารถบอกสาเหตุต่างๆของโรคหัวใจในเด็กได้ เป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการให้การรักษาและด้านการป้องกัน แม้ว่าโรคบางชนิดที่มีต้นเหตุจากทางพันธุกรรมในปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถป้องกันอย่างได้ผล การแนะนำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกที่เป็นโรคบางชนิดหลีกเลี่ยงการแต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวเดียวกันก็อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ระดับหนึ่งสำหรับโรคบางชนิด หรือถ้าป้องกันไม่ได้จริง การรู้ข้อมูลโดยละเอียดแต่เนิ่นๆก็เป็นประโยชน์ต่อการช่วยวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้นเพื่อที่จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.จุล ทิสยากร มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์