การดูแลสุขภาพปากและฟันในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

การดูแลสุขภาพฟันทั่วไปในเด็กโรคหัวใจ

ทางที่ดีที่สุดการดูแลสุขภาพฟันในเด็กโรคหัวใจ คือ การดูแลสุขภาพเหงือกและฟันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีฟันผุ อาจมีแนวทางปฏิบัติทั่วๆ ไป ดังนี้

  1. ในเด็กเล็กให้ทำความสะอาดฟันด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฟันและเหงือก หลังจากดื่มนมหรือรับประทานอาหารทุกครั้ง  ควรใช้แปรงสีฟันเล็กๆ แปรงฟันให้กับเด็ก  เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย อาจแตะยาสีฟันเด็กเพียงเล็กน้อยขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว  แปรงฟันให้กับเด็กทุกซี่และทุกด้านอย่างทั่วถึง  ใช้ผ้าสะอาดเช็ดฟองออกแล้วจึงเช็ดน้ำตาม  เมื่อเด็กโตขึ้นก็ฝึกให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
  2. ควรสอนให้เด็กเล็กเริ่มใช้แก้วน้ำแทนขวดนมตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และเปลี่ยนจากขวดนม เป็นการใช้แก้วน้ำตอนอายุ 1 ปี
  3. ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม       อย่าให้เด็กเข้านอนขณะที่ยังดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานจากขวดนม แต่ถ้าจำเป็นต้องให้เด็กทารกหลับพร้อมขวดนมให้เติมน้ำเปล่าแทน    และไม่ควรให้เด็กเล็กเดินไปพร้อมถือขวดนมติดมือ
  4. ฝึกใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพื่อกำจัดคราบแบคทีเรียตามซอกฟันและร่องเหงือก
  5. รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน ควรรับประทานแป้งและน้ำตาลซึ่งจะสร้างกรดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุเป็นอาหารมื้อหลัก เนื่องจากน้ำลายที่ถูกผลิตออกมาในปริมาณมากช่วงมื้ออาหารจะช่วยขจัดคราบอาหารออกจากปากได้ ไม่ควรให้แป้งและน้ำตาลเป็นอาหารว่าง
  6. ให้ดื่มน้ำเปล่าที่มีปริมาณฟลูออไรด์เหมาะสม ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องให้ฟลูออไรด์รับประทานเสริมหากน้ำดื่มมีฟลูออไรด์สูงอยู่แล้ว
  7. ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ก่อนที่ฟันน้ำนมจะขึ้นครบหรืออายุระหว่างอายุสองถึงสามปี  เพื่อที่เด็กจะได้คุ้นเคยกับทันตแพทย์และผู้ปกครองจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาสุขภาพฟัน การรับประทานอาหาร และการใช้ฟลูออไรด์ ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุก  6 เดือน

ขัอปฏิบัติก่อนการทำฟัน

  1. แจ้งแพทย์ที่ดูแลโรคหัวใจประจำให้ทราบถึงการทำฟันที่จะทำ ซึ่งแพทย์จะสรุปประวัติโรค การผ่าตัด ยาที่ใช้ และข้อปฏิบัติและข้อควรระวังให้ผู้ป่วยและทันตแพทย์ทราบ
  2. หากมียาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดล่วงหน้าก่อนทำฟัน ยาที่พบบ่อยได้แก่
    • ยาวาฟาริน (Warfarin) หรือ Coumadin ให้หยุดยาก่อนทำฟัน 3-5 วัน ถ้าทำหัตถการที่คาดว่าจะมีเลือดออกมากหรือค่า INR เดิมสูงมาก ให้เจาะดูค่า INR ก่อนทำหัตถการ ถ้า INR น้อยกว่า 1.5 สามารถทำฟันได้ ถ้าค่ามากกว่า 1.5 ควรเลื่อนหัตถการออกไป
    • ยาต้านเกร็ดเลือดแอสไพริน (Aspirin) แนะนำให้หยุดยาก่อนทำหัตถการ 7 วัน
    • ยาต้านเกร็ดเลือดพลาวิส (Plavix) แนะนำให้หยุดยาก่อนทำหัตถการ 5 วัน
  3. กินยาปฏิชีวนะก่อนทำฟันประมาณ 1 ชั่วโมง
  4. หลังทำฟันและเลือดหยุดดีแล้ว ให้เริ่มยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดได้ตามขนาดเดิม

การให้ยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน

       ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจได้ในระหว่างการทำฟันดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อก่อนจะทำฟันในช่องปากโดยเฉพาะการทำฟันที่ทำให้มีเลือดออก เช่น การถอนฟัน การอุดฟัน การรักษารากฟัน

       ผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจากการทำฟัน ซึ่งต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำฟันทุกครั้ง ได้แก่

  1. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับผ่าตัดโดยมีการใส่ลิ้นหัวใจเทียมหรือวัสดุอื่นที่ลิ้นหัวใจ
  2. ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติมีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
  3. ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดเขียวที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด หรือได้รับการผ่าตัดแล้วแต่ยังมีรอยโรคเหลืออยู่
  4. ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน
  5. ผู้ป่วยที่ได้รับการแก้ไขความผิดปกติโดยการผ่าตัดหรือสวนหัวใจ โดยมีวัสดุสังเคราะห์อยู่ในหัวใจ ในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
  6. ผู้ป่วยที่ได้รับการแก้ไขความผิดปกติโดยการผ่าตัดหรือสวนหัวใจ โดยมีวัสดุสังเคราะห์อยู่ในหัวใจและยังเหลือรอยโรคอยู่

        ทั้งนี้ก่อนทำฟันควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่า จำเป็นต้องได้รับยาก่อนทำฟันหรือไม่ และควรมีบัตรประจำตัวเพื่อแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบชนิดของโรคหัวใจ การผ่าตัดที่ได้รับ และข้อปฏิบัติก่อนการทำฟันทุกครั้ง

      ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนทำหัตถการในช่องปาก

            ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนทำหัตถการในช่องปาก ส่วนใหญ่จะให้ยาแอมมอคซีซิลิน (Amoxycillin) หากแพ้ยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) ก็จะพิจารณาใช้ยาอื่นแทน ดังตาราง

การให้ยา

ยาที่ใช้

ให้ยาครั้งเดียวก่อนทำฟัน 30-60 นาที

ผู้ใหญ่

เด็ก

ยารับประทาน

Amoxycillin

2 กรัม

50 มก./กก.

ยารับประทาน

(กรณีแพ้ยากลุ่ม Penicillin)

หรือ Cephalexin

2 กรัม

50 มก./กก.

หรือ Clindamycin

600 มก.

20 มก./กก.

หรือ Azithromycin

หรือ Clarithromycin

500 มก.

15 มก./กก.

ยาฉีด

Ampicillin

2 กรัม

50 มก./กก.

หรือ Cefazolin

หรือ Ceftriaxone

1 กรัม

50 มก./กก.

ยาฉีด

(กรณีแพ้ยากลุ่ม Penicillin)

Cefazolin

หรือ Ceftriaxone

1 กรัม

50 มก./กก.

หรือ Clindamycin

600 มก.

20 มก./กก.