โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

          โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้จากการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ในตัวอ่อน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงแน่ชัดโดยอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกันเช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม, การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์, การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด, โรคประจำตัวของแม่ เช่น เบาหวาน เป็นต้น

          โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิดและมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงมีอาการเหนื่อยหอบ ตัวเขียว เลี้ยงไม่โต จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อายุที่สามารถตรวจพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นก็จะแตกต่างกันไป ไม่จำเป็นที่จะต้องเจอเฉพาะตอนแรกเกิด อาจเจอได้ตั้งแต่แรกเกิดในบางภาวะหรืออาจตรวจพบในภายหลังด้วยเรื่องตรวจพบเสียงหัวใจที่ผิดปกติ หรือปรากฏอาการเมื่อโตขึ้นได้ในบางครั้งอาจตรวจพบครั้งแรกตอนเด็กมารับวัคซีน บางครั้งอาจไม่มีอาการใดๆ เลยจนอายุมากก็เป็นได้

            ความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นสามารถพบได้ในทุกๆ ส่วนของหัวใจได้แก่ จำนวนห้องของหัวใจอาจไม่ครบ 4 ห้อง, ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว, ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว, หลอดเลือดใหญ่มีขนาดเล็กผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจออกผิดที่, หลอดเลือดเกิน เป็นต้น ดังนั้นอาการและการแสดงออกในแต่ละความผิดปกติก็จะแตกต่างกันออกไป โรคหัวใจบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่ต้องอาศัยการตรวจติดตามอาการ ในขณะที่บางชนิดอาจต้องรักษาโดยการให้ยา บางชนิดอาจต้องรักษาโดยการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด ซึ่งการรักษาแต่ละวิธีนั้นก็จะต้องมีช่วงอายุและน้ำหนักที่เหมาะสม

การตรวจวินิจฉัย

         หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ โดยจะได้รับการตรวจดังนี้

1. ซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป

2. ตรวจวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดโดยการจับชีพจรที่ปลายนิ้วเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

3. ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ ประเมินขนาดห้องหัวใจและดูลักษณะเฉพาะที่เข้าได้กับโรคหัวใจแต่กำเนิดในบางโรค

4.ถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อดูขนาดของห้องหัวใจ ปริมาณและลักษณะของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงยังปอดทั้ง 2 ข้าง

5. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echocardiography) เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด ทิศทางการไหลเวียนของเลือด ตลอดจนการทำงานของหัวใจ

6. การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เป็นการตรวจที่มีการวัดค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดและวัดความดันในห้องต่างๆ ของหัวใจและมีการถ่ายภาพรังสีและฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูให้เข้าใจถึงความปิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสวนหัวใจเพื่อทำการรักษาหรือการผ่าตัดแก้ไขต่อไป

7. การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) เพื่อดูความปิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ในกรณีที่การตรวจพิเศษอย่างอื่นไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจน

การปฏิบัติตนเมื่อทราบว่าเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด

        หลังจากที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ทราบแน่นอนว่า เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดใดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคหัวใจแต่กำเนิด เนื่องจากความผิดปกติในแต่ละมีวิธีการรักษาและปฏิบัติตัวแตกต่างกัน หากมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยและไม่มีอาการ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ ทั้งนี้โรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิดอาจจำเป็นต้องรักษาทั้งๆ ที่ยังไม่มีอาการ เช่น ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วขนาดใหญ่, ลิ้นหัวใจของเส้นเลือดที่ไปปอดตีบมาก เป็นต้น โรคหัวใจบางชนิดอาจมีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย เลี้ยงไม่โต กลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจำกัดน้ำ รับประทานยาขับปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ในกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดเขียว อาจต้องป้องกันและสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น การติดเชื้อที่หัวใจจากแบคทีเรียหรือเป็นฝีในสมอง ฯ

          ข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดคือ การรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี อย่าให้ฟันผุเพราะเชื้อโรคจากฟันและช่องปากจะเข้าไปในกระแสเลือด เกิดการอักเสบติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจหรือลิ้นหัวใจได้ ถ้ามีฟันผุควรปรึกษาทันตแพทย์และถ้าจะทำฟันจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำฟันทุกครั้ง

          กิจกรรมและการออกกำลังกายในโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย หลักการโดยทั่วไปคือ ควรออกกำลังกายให้พอดี เมื่อเริ่มรู้สึกเหนื่อยควรหยุด โดยเฉพาะในรายที่มีความผิดปกติมากหรือซับซ้อน และมีอาการเหนื่อยเร็วกว่าปกติ ในเด็กเล็กที่มีอาการหอบเหนื่อยขณะดูดนม จะมีผลให้ดูดนมได้น้อยไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต เด็กจะโตช้า เลี้ยงไม่โต เจ็บป่วยบ่อยๆ ควรให้นมพิเศษสำหรับเด็กโรคหัวใจหรือนมที่มีแคลอรี่สูงกว่าปกติ และให้ดูดนมครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น ในเด็กวัยเรียนสามารถเข้าเรียนและทำกิจกรรมได้เกือบปกติ ยกเว้น ในรายที่มีอาการ ต้องแจ้งคุณครูในชั่วโมงพละศึกษาว่า เด็กอาจจะเหนื่อยก่อนเพื่อน ควรให้เด็กหยุดพักเมื่อมีอาการเหนื่อย แต่ไม่แนะนำให้งดกิจกรรมไปเลย นอกจากนี้แนะนำหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่เป็นหวัดหรือเจ็บป่วยอื่นๆ และฉีดวัคซีนที่ป้องกันการเจ็บป่วยได้ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคอล เป็นต้น

           โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการสวนหัวใจรักษาหรือการผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เป็นมากจนถึงระยะสุดท้าย เนื่องจากในบางโรคอาจรักษาไม่ได้หรือรักษาได้แต่มีความเสี่ยงและอันตรายสูง

การรักษา

การรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มี 3 วิธี คือ

1. การรักษาด้วยยา ในรายที่มีอาการของหัวใจวาย เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือด ยาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ

2. การรักษาทางสายสวนหัวใจ เช่น การขยายลิ้นหัวใจด้วยสายสวนที่มีลูกโป่งส่วนปลาย การปิดหลอดเลือดเกินด้วยขดลวดสปริงขนาดเล็กหรือใช้เครื่องมือปิดรอยโหว่

3. การผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติหรือบรรเทาอาการ เช่น ปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจ การตัดต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด และการผ่าตัดหัวใจแบบซับซ้อนอื่นๆ