การดูแลผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ

การดูแลผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ

1. การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดในช่วงต้น

ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจจะแบ่งได้โดยง่ายเป็น 2 ชนิด คือ การผ่าตัดเปิดหัวใจ ซึ่งหมายถึง การผ่าตัดขณะที่หัวใจหยุดเต้นเพื่อซ่อมแซมเย็บปิดรูรั่วภายในหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น และการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดหัวใจ เช่น การต่อเส้นเลือดหรือการผูกเส้นเลือดเกิน การผ่าตัดทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยจะใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยจะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 1 ถึง 3 วัน และพักฟื้นในโรงพยาบาลอีก 5 ถึง 10 วัน ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ เมื่อออกจากห้องผ่าตัดจะถูกย้ายมาที่หออภิบาลผู้ป่วยหนัก เรียกย่อๆ ว่า ไอซียู (intensive care unit) ผู้ป่วยยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อความปลอดภัยในช่วงแรก รวมทั้งจะมีอุปกรณ์หลายชนิดช่วยในการเฝ้าระวังภาวะการทำงานของหัวใจ เช่น เครื่องวัดความดัน โดยใช้สายวัดทางหลอดเลือดแดง การวัดชีพจร สายวัดความดันที่ต่อโดยตรงมาจากห้องหัวใจ และสายที่ใช้ในการกระตุ้นหัวใจให้เต้นตามจังหวะ กรณีที่เกิดความผิดปกติของการเต้นหัวใจ ตลอดจนท่อระบายเลือดจากช่องรอบหัวใจและช่องปอด ผู้ป่วยเหล่านี้จะดูเหมือนเด็กที่ป่วยหนักในระยะเบื้องต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อคลายอาการเจ็บปวดและทำให้หลับ ผู้ปกครองควรติดต่อซักถามกับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดหรือกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็กเป็นรายๆ เพื่อรับทราบผลการผ่าตัด และการดำเนินโรคในระยะพักฟื้น

ช่วงระยะเวลานี้ ผู้ปกครองอาจถูกกำหนดเวลาเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนเต็มที่ ผู้ป่วยจะได้รับการถอดท่อช่วยหายใจเพื่อให้หายใจเอง เมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยได้ฟื้นจากการดมยา และในระยะเวลา 1- 2 วัน แพทย์จะค่อยๆ ถอดสายหรือท่อต่างๆ ที่ติดกับผู้ป่วยเมื่อเห็นว่าผู้ป่วยได้พ้นขีดอันตรายและไม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดต่อไป ในช่วงระยะเวลานี้ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับอาหารตามอายุ เช่น ให้น้ำหวาน และนมในเด็กเล็กหรืออาหารอ่อนในเด็กโต

ความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กที่ผู้ปกครองสามารถเห็นได้หลังการผ่าตัด เช่น การที่มีผิวสีแดง ริมฝีปากสีแดง จากการเป็นสีคล้ำที่เรียกว่าเขียว ผู้ป่วยจะดูเหมือนว่ามีภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การผ่าตัดบางชนิดอาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีผิวสีเป็นปกติ โดยยังมีอาการคล้ำหรือเขียวได้ แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ปกครองทราบได้เองถึงผลการผ่าตัด ในช่วงหลังนี้ผู้ป่วยจะได้รับการย้ายเข้าไปในหอผู้ป่วยเมื่ออาการดีขึ้น

2. การดูแลผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ได้รับการย้ายมาอยู่ในหอผู้ป่วย จะใช้เวลาพักฟื้นตั้งแต่ 3 วัน ถึง 10 วัน ในช่วงนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถเริ่มกินนมหรืออาหารได้เอง แพทย์จะให้งดอาหารเค็มเพราะจะมีปริมาณเกลือที่มากเกินความต้องการ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อช่วยในการกระตุ้นหัวใจ ยาขับปัสสาวะหรือยาขยายหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางส่วนจะต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อระบายเสมหะออกจากปอด เพราะการผ่าตัดหัวใจจะยังทำให้มีความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด

ผู้ป่วยหลายรายจะไม่สามารถหายใจเพื่อให้ปอดขยายได้เต็มที่จะยังทำให้มีเสมหะค้างได้ ในเด็กที่โต แพทย์อาจให้ผู้ป่วยฝึกหายใจ เช่น เป่าท่อลมหรือลูกโป่ง เป็นต้น แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูผลการพักฟื้น เช่น การทำเอ็กซเรย์ปอด การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจหรือที่เรียกว่า เอ็คโค (echocardiogram) เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตัดไหมตามแต่ชนิดของไหมที่เย็บบริเวณผิวหนัง เมื่อแพทย์แน่ใจในการฟื้นตัวของผู้ป่วยแล้วก็จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ก่อนกลับบ้าน แพทย์จะให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อช่วยในการพักฟื้นของผู้ป่วยที่บ้าน เช่น คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณนม และน้ำที่ผู้ป่วยควรได้รับ, การงดอาหารเค็ม และยาต่างๆ ที่จะได้รับ มักแบ่งเป็นชนิดดังนี้ 


  1. ยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ มีชื่อว่า ลาน็อคซิน (Lanoxin) ชนิดน้ำหรือเม็ด มักกินวันละ 2 ครั้ง
  2. ยาขับปัสสาวะช่วยในการขับน้ำส่วนเกิน ลดอาการบวม ยานี้มีแต่ชนิดเม็ดต้องหักแบ่งเป็น ครึ่งเม็ด หนึ่งในสี่ หนึ่งในแปดเม็ด เช่น ยาลาซิค (Lasix) หรือ แอลแดคโตน (aldactone)
  3. 
ยาขยายหลอดเลือด โดยทั่วไปหักแบ่งเป็นหนึ่งในสี่และผสมน้ำให้สัดส่วนต่างกัน วันละ 2 หรือ 3 หน 

  4. ยาป้องกันการแบ่งตัวของเกร็ดเลือด คือ แอสไพริน วันละหน ต้องทานตลอดไปในผู้ป่วยบางราย
  5. ยาอื่นๆ แล้วแต่สภาวะ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอ ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจกับแพทย์ถึง ขนาด มื้อ ปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ การนัดติดตามตรวจรักษา
อาจกล่าวได้ว่าการผ่าตัดหัวใจทุกครั้ง แพทย์จะต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจติดตามการรักษาเสมอ โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูสภาพการทำงานของหัวใจ เพิ่มหรือลดขนาดยาและตัดไหม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะนัดมาภายใน 7-10 วัน หลังทำการผ่าตัด และอาจจะนัดห่างออกไปในครั้งต่อไป ในการมาตรวจติดตามการรักษา ผู้ป่วยควรจะมาตรวจตามวันนัด และนำยาทุกอย่างที่เหลืออยู่มาเพื่อสะดวกในการสั่งยาครั้งต่อไป

ระวังอันตรายที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ
เด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจจะมีการผ่ากระดูกหน้าอกออกและผูกติดกัน เมื่อเสร็จการผ่าตัด ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกมักจะเริ่มตั้งแต่อาทิตย์ที่ 2-3 จึงควรระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น แรงกระแทกที่หน้าอก และไม่ควรให้ผู้ป่วยยกของหนัก ภายใน 4-6 อาทิตย์ เด็กส่วนใหญ่จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันในการช่วยเหลือตัวเองได้ ใน 1-2 อาทิตย์ และกลับไปเรียนหรือปฏิบัติงานได้หลังจาก 2 อาทิตย์ไปแล้ว

อาการแสดงที่ควรระวังเพื่อจะได้นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้ทันท่วงที

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้ ผู้ปกครองควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมีอาการต่อไปนี้

  1. ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ภายหลังการผ่าตัด
  2. อาการทางระบบหายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  3. ความผิดปกติของสีผิวที่คล้ำ ตัวเขียว อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงระยะเวลาพักฟื้น
  4. อาการบวมตามท้อง ตัว แขนขา
  5. มีความผิดปกติของการเต้นหัวใจ เช่น ใจสั่น อาการเจ็บหน้าอกหรือเป็นลม เป็นต้น

การให้ยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ จะได้รับคำแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแอมมอคซีซิลิน 1 ช้อนในเด็กเล็ก และ 1 เม็ดในเด็กโต ก่อนการทำหัตถการใดๆ (เช่น การทำฟัน การผ่าตัด เป็นต้น) ประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อภายในหัวใจ โดยส่วนใหญ่ต้องกินไปตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำเป็นรายไป

โดยสรุป
การผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ทั้งการเตรียมการ และดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ขั้นตอนเหล่านี้ได้เตรียมไว้เพื่อให้เกิดผลการรักษาและความปลอดภัยที่ดีที่สุดของผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยหลังผ่าตัดยังต้องการการดูแลที่ใกล้ชิดจากญาติและการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ปกครอง พร้อมทั้งมีข้อปฏิบัติและข้อระวังต่างๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ. กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์